มาตรฐานไอเสีย EURO คืออะไร?
การควบคุมค่ามาตรฐานไอเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เริ่มต้นจากการเล็งเห็นปัญหาของมลพิษในอากาศที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งรถยนต์รวมถึงยานพาหนะรูปแบบต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปคือสาเหตุหลักที่ทำให้มลพิษในอากาศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมค่ามาตรฐานไอเสีย สำหรับอุสาหกรรมยานยนต์ โดยมีกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป (EUROPEAN EMISSION STANDARDS) เป็นผู้ริเริ่มให้มีการวางกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในด้านการใช้เชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีการปล่อยมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษของยานยนต์ที่ออกมาจากโรงงานสำหรับขายในภูมิภาคยุโรป อันเป็นที่มาของ มาตรฐานไอเสีย EURO ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยเริ่มมีการควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) มีการกําหนดมาตรฐานไอเสีย EURO 1 สําหรับยานพาหนะควบคู่กับมาตรฐานของเชื้อเพลิง เพื่อให้ยานพาหนะที่ผลิตจําหน่ายออกมาปลดปล่อยไอเสียได้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กําหนด ซึ่งผลจากการกําหนดมาตรฐาน ดังกล่าว ก่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเทคโนโลยียานพาหนะ เพื่อให้สามารถควบคุมการปลดปล่อยมลพิษให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน และในด้านน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่ง ได้แก่ น้ำมัน เบนซิน และดีเซลก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อลดองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดมลพิษให้น้อยลงเช่นกัน
มาตรฐานไอเสีย EURO วัดจากอะไรและวัดกันอย่างไร?
มาตรฐานไอเสียและมาตรฐานน้ำมันเชื้อพลิงที่ได้กําหนดไว้นั้น ได้มีการพัฒนาให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม และปริมาณมลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาตามปริมาณการใช้เชื้อเพลิง แบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ Euro 1 จนถึงล่าสุด Euro 6 ที่เริ่มใช้กันในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2014 แล้ว โดยหลักๆ จะเป็นการวัดจากระดับของสารพิษอย่าง คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) , สารไฮโดรคาร์บอน (HC) , สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) , สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งแบ่งตาม ขนาด ประเภท และลักษณะของเครื่องยนต์
การทดสอบค่าปริมาณสารมลพิษตามมาตราฐานยูโร
ลักษณะที่ 1 : ปริมาณสารมลพิษภายหลังการติดเครื่องขณะเย็น
ลักษณะที่ 2 : ปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในขณะเครื่องยนต์เดินเบา
ลักษณะที่ 3 : ปริมาณสารมลพิษจากห้องข้อเหวี่ยง
ลักษณะที่ 4 : ปริมาณสารมลพิษไอระเหย มีค่ามาตรฐานของการทดสอบรับรองเฉพาะแบบการ
ลักษณะที่ 5 : ความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ
ลักษณะที่ 6 : ทดสอบปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ที่อุณหภูมิต่ำ (-7 °C)
ลักษณะที่ 7 : การทดสอบระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ (OBD)
มาตรฐานควบคุมไอเสียยูโรในไทย..ไปถึงขั้นไหนแล้ว?
สำหรับประเทศไทยนั้นได้เริ่มมีการใช้มาตราฐานไอเสียตามสหภาพยุโรป โดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นตัวกำหนดปริมาณการปล่อยปริมาณไอเสียของรถที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งเริ่มครั้งแรกกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กในปี 2542 ที่จะต้องผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 2 ก่อนจะขยับเป็น Euro 3 ในปี 2548 ล่าสุดขยับเป็นมาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษ Euro 4 อ้างอิงตามมาตรฐาน ECER.83-05 ซึ่งตรงกับมาตรฐาน มอก.2540-2554 และ มอก.2550-2554 เริ่มตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างค่ามาตรฐานการปล่อยไอเสีย Euro 4 จากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กในประเทศไทย กำหนดให้รถยนต์ที่ผ่านการทดสอบจะต้องมีปริมาณการปล่อยสารมลพิษไอเสียต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบไปด้วย
-คาร์บอนมอนออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.5 g/km
-ไนโตรออกไซด์ต้องไม่เกิน 0.25 g/km
-ไฮโดรคาร์บอน+อนุพันธ์ไนโตรออกไซด์ ต้องไม่เกิน 0.3 g/km
-และท้ายสุดคือ อนุภาคฝุ่นที่มีขนาด 10 ไมครอน ต้องไม่เกิน 0.025 g/km ผลที่ได้จากการปรับค่ามาตรฐานไอเสียยูโรในระดับที่สูงขึ้น
คนไทยจะได้ใช้รถยนต์มาตรฐานยูโร 5-6 กันแล้ว
ล่าสุด นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมากล่าวถึง การเตรียมกำหนดแผนที่จะบังคับใช้มาตรฐานไอเสียสำหรับรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 ในปี 2563 และการกำหนดบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ทั้งน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล โดยกำมะถันจะถูกลดลงไปเหลือเพียง 10 ppm เท่านั้น หรือลดลงจากมาตรฐานยูโร 4 ถึง 5 เท่าตัว ส่วนรถจักรยนต์ ในปี 2562 จะบังคับให้ผลิตมาตรยูโร 5 จากปัจจุบันเป็นยูโร 3
นอกจากนี้จะประสานกรมการขนส่งทางบก เข้มข้นการตรวจสอบมาตรฐานรถเก่าทั้งรถจักรยานยนต์ที่ต้องตรวจกรณีอายุเกิน 5 ปี และรถยนต์อายุเกิน 7 ปี หากปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐานก็จะไม่ปล่อยให้ออกมาวิ่งในท้องถนน เพราะผลการศึกษาพบว่ารถเก่า 1 คัน ปล่อยมลพิษเท่ากับรถใหม่ 7-10 คัน และยังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 แล้ว รถสมาชิกเออีซีที่ปล่อยมลพิษสูงกว่ามาตรฐานยูโร 4 อาจจะให้วิ่งเฉพาะพื้นที่ชายแดน ไม่ให้เข้ามาในเขตเมือง
งานนี้มีแรงสนับสนุนค่ายรถยนต์อีกหลายค่ายต่างออกมาขานรับ แสดงพร้อมที่จะยกระดับรถยนต์ของตัวเองสู่มาตรฐาน Euro 5 ในการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ทุกคันภายในปี 2564 ตั้งเป้าจะต้องลดการปล่อยฝุ่นพิษได้ร้อยละ 80 และเตรียมยกระดับเป็น Euro 6 ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นหวังว่าเราคงไม่ต้องใส่หน้ากากเข้าหากันเหมือนในตอนนี้คงจะดีไม่น้อย
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมมลพิษ , ศูนย์ทดสอบสถาบันยานยนต์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น